รองขาโต๊ะ 01
รองขาโต๊ะ - เพจรีวิวหนังสือห่ามๆ ที่ให้เรทติ้งกลับข้างกับทั่วๆไป ไร้ซึ่งความเกรงใจ และ ถ่มถุยกับไลฟ์โค้ช
เพจรีวิวหนังสือแนวใหม่ ที่มีบรรยากาศของความประชดประชัน แนะนำทั้งหนังสือที่น่าอ่าน และ น่ารองขอโต๊ะไปในตัว
ด้วยความมีคาแรกเตอร์ชัดเจน ติดตลกติดกวน ทีมงานของเราจึงนึกสนุกลองติดต่อเข้าไป เพื่อชวนเพจร่วมงานด้วย ซึ่งทางรองขาโต๊ะก็เปิดรับการพูดคุย การนัดพบของเราเกิดขึ้นยามวิกาล ณ ร้านอาหารแห่งหนึ่ง ย่านเอกมัย การพูดคุยออกรสออกชาตินานนับชั่วโมง ซึ่งเรื่อง Collab จบในสามนาทีแรก ส่วนที่เหลือเป็นเรื่องโม้เรื่องฝอย นับแต่นั้น เราก็ซุ่มร่วมมือ เตรียมที่จะผลิตปกหนังสือร่วมกัน
ระหว่างนั้นเราก็คุยกันด้วยเรื่องต่างๆไปด้วย Folioจึงลองคัดเรื่องที่เราพูดคุยกันมาเล่าให้ฟัง เพื่อให้ทุกคนได้รู้จักตัวตนของ อัฒฑ์-รองขาโต๊ะมากขึ้น
ช่วงก่อนหน้านี้เราเห็นว่าเพจเงียบๆไป – เพจรองขาโต๊ะหายไปไหนครับ?
อัฑฒ์ - ตัวผมเริ่มทำงานประจำเป็นcontent writer แล้วช่วงนี้ ปริมาณงานมาก ทำให้ไม่ได้อ่านหนังสือ และ ทำรีวิวครับ จนบางทีก็มีความรู้สึกว่า ผมน่าจะเลิกทำเพจรองขาโต๊ะไปเลย เพราะว่าเราไม่ได้สามารถรีวิวหนังสือเป็นประจำได้แล้ว
แต่ว่าผมก็ลองปรึกษากับหลายๆคน และ ลองถามตัวเอง ผมพบว่าจริงๆผมไม่ได้อยากเป็น content creator หรือ reviewer แบบนั้น แต่ผมพบว่า ผมอยากจะมีเพื่อนเป็นคนอ่านหนังสือ และ ผมคิดว่า เพจรองขาโต๊ะ เป็นสื่อนั้น ก็เลยคิดได้ว่า เราทำในระดับที่เราทำแล้วเรามีความสุข และ อยากทำสิ่งนี้อยู่ครับ
ทำไมเพจถึงพูดถึงหนังสือการเมืองเยอะ (เพจรองขาโต๊ะ แสดงออกค่อนข้างชัดเจน ว่ามีความเห็นโน้มเอียงไปในทางนิยมประชาธิปไตยแบบสากล)?
อัฑฒ์ - ผมพูดถึงเยอะ เพราะว่ามันเป็นความสนใจของผมในช่วงเวลาที่ผ่านมา และ ถึงตอนนี้ครับ ย้อนไปตั้งแต่สมัยมีการชุมนุมของ กปปส. ในช่วงเวลานั้นผมไม่ได้มีความสนใจการเมืองเลย ผมก็มีพี่ที่รู้จักชวนไป ผมก็ไปฟังก็ยังไม่ได้คิดอะไร เผอิญไปดูรายการตอบโจทย์ผ่านทางยูทูป ก็เลยเห็นว่ามีหลายอย่างที่ไม่ตรงกัน ก็เลยยิ่งเกิดคำถาม ประกอบกับตอนนั้นผมย้ายที่อยู่มาอยู่หอกับเพื่อน เลยได้รู้จักกลุ่มเพื่อนใหม่ๆที่อินหนังสือเกี่ยวกับชีวิต เช่นหนังสือ ของชาติ กอบจิตติ ก็เลยทำให้ผมสนใจการอ่านอีกครั้ง ก็เลยทำให้ผมลองพยายามหาคำตอบของปรากฎการณ์กปปส.ผ่านการอ่านครับ หลังจากนั้นก็เลยสนใจการเมืองเรื่อยมา
ที่พูดว่าชอบการอ่านอีกครั้งนี่หมายความว่า เคยชอบอ่านหนังสือมาก่อนแล้ว?
อัฑฒ์ – จะพูดว่าอย่างงั้นก็ได้ หรือ ไม่พูดว่าอย่างงั้นก็ได้ คือในสมัยเด็กๆ แม่ผมจะชอบให้เงินให้ผมไปซื้ออะไรมาอ่าน แม้ว่าแม่จะมีรายได้น้อยมากนะครับ ผมก็โชคดีที่ได้ฝึกการอ่านตั้งแต่เด็ก แม้ว่าจะเป็นนิยาย (ไวท์โร้ด / อยากให้เรื่องนี้ไม่มีโชคร้าย) หรือ หนังสือการ์ตูน ผมก็คิดว่า ผมได้ฝึกอ่านมาตั้งแต่เด็ก เมื่อเทียบกับเด็กๆรอบตัวผมนะ พอเข้าสู่ช่วงม.6 - ปี1 ชีวิตผมก็พาลไปเกเร ก็เสียเวลากับช่วงนั้นไประยะนึง
ตอนนี้มีคำว่า(คนดี) คำว่า(คนดี) คืออะไรครับ?
อัฑฒ์ – คนที่ถูกใจมึง
ส่วนคนดี แบบ ทางการ ก็คือ คนที่ถูกใจทางการน่ะครับ
ถ้าให้ลองอธิบายเพิ่มอีก ก็คิดว่า รัฐกับศาสนา ดำรงอยู่ร่วมกันมาแต่โบราณแล้วใช่ไหมครับ รัฐรับศาสนามา ศาสนาก็ให้ความชอบธรรมกับรัฐ
ดังนั้น ความดีแบบฉบับของทางการจึงเป็นความดีที่ รองรับ ชุดความดีของรัฐ และ ศาสนา ซึ่งทั้งชุดความดีนี้ ก็มากำหนดว่า คนแบบไหนที่ดี และ คนแบบไหนที่ไม่ดี ผมคิดว่าถึงที่สุด ลำดับความดีของรัฐเหนือกว่าของศาสนาในแบบฉบับทางการ
แล้วสังคมยังต้องการชุดความดี สักชุดอยู่ไหมครับ ในความเห็นของอัฑฒ์ หรือ ปล่อยให้คำว่าดี นี้เป็นเรื่องปัจเจกไปเลยดีกว่า?
อัฑฒ์ – ผมคิดว่าเราอาจจะต้องการนะ แต่ในโลกสมัยใหม่ มันไม่ได้เชิดชูว่าคนเนี้ย เป็นคนดี ออกมาแค่นั้น แต่ควรใช้ให้ลึกลงไปว่า เค้าเป็นคนที่รับใช้ประเทศด้วยความซื่อสัตย์มาเสมอ หรือว่า เขาเป็นคนที่ทำเพื่อผู้อื่น ยอมเสียสละในสถานการณ์คับขัน ไม่ได้พูดว่า (คนดี) แล้วดีเลย แบบนี้ไม่เข้าใจ
และ เช่นเดียวกับเรื่องเล่าหลักครับ มันคงมีแหละแต่ มันเปลี่ยนแปลงได้ และเกิดจากกการตกลงพูดคุยในสังคม หรือ อย่างเรื่อง เอกลักษณ์ความเป็นชาติเนี่ย ผมคิดว่าถ้าเราไปถามคนอเมริกัน ว่าอะไรคือ ความเป็นอเมริกา เค้าก็จะตอบออกมาได้อยู่ดี
อยากให้แนะนำหนังสือเล่มนึงที่ยังประทับใจอยู่?
อัฑฒ์ – ผมชอบ ความยุติธรรม - JUSTICE (เขียนโดย Michael J. Sandel แปลโดย สฤณี อาชวานันทกุล) มากครับ คือ คนถามหลายรอบก็ยังพูดว่าเล่มนี้ ความยุติธรรมเป็นหนังสือเปิดความคิดสำหรับผม แม้ว่ามันจะต้องอ่านหลายรอบเพื่อเข้าใจ ด้วยภาษาที่มันใช้ แต่ว่ามันมีประโยชน์ตรงมันชวนให้เราทำความเข้าใจ ถกเถียงในเรื่องปรัชญาสาธารณะ และ ทำให้เราสามารถคุยกับคนที่มีขั้วความคิดต่างจากเราอย่างเป็นอารยชน เช่น บทเรื่องการเกณฑ์ทหาร ที่ว่าการเกณฑ์ทหารแบบไหนถึงจะเป็นธรรม? ถ้าเป็นชุดความเชื่อ แบบระบบตลาดก็จะให้นโยบายแบบนึง คือให้แรงจูงใจกับคนที่เลือกไปเกณฑ์ทหาร หรือ ชุดความคิดที่เชื่อในความเท่าเทียม ก็จะออกนโยบายที่ทุกคนต้องไปเกณฑ์ทหาร แบบนี้
นอกจากงาน และ การอ่านหนังสือ มีอะไรที่สนใจอยู่บ้างครับ?
อัฑฒ์ – ตอนนี้ถ้ายกตัวอย่างนี่ผมกำลัง ติดตามอนิเมะ/มังงะ เรื่อง My Hero Academia.
อย่างอนิเมะเนี่ย คิดว่า ทุกๆคนก็น่าจะเป็นเหมือนกัน คือเราดูอนิเมะด้วยมุมมองแบบเด็กๆที่ดูเพื่อความสนุกได้ เราได้อรรถรสจากอนิเมะเหมือนเดิม แต่ว่าในความที่เราโตขึ้นมาแล้ว เราก็เลยจะเห็นเนื้อหาที่ซ่อนอยู่ในอนิเมะมากกว่าตอนเราเด็ก ตัวอย่างเช่น ในเรื่องเนี่ย มีเพื่อนพระเอก เกลียดพระเอกของเรามาก คอยดูถูกพระเอกว่าอ่อนแอกว่า กระจอกกว่า แต่พอพระเอกได้พลังมา จนเก่งกว่าแล้ว เพื่อนก็ยังเกลียดอยู่อีก อนิเมะก็พาไปขมวดถึงจุดที่ว่า เราไปดูถูกคนอื่น มันเกิดจากลึกๆแล้วเราไม่ได้เคารพ หรือ รักตัวเองมากพอ กลัวว่าคุณค่าที่ตัวเองให้กับตัวเองจะลดลง
หรือ มันก็จะมีประเด็นที่ คนที่เป็นฮีโร่ระดับ2มาตลอดชีวิต เคี่ยวเข็ญลูกของตัวเองทุกอย่าง เพื่อให้ลูกได้เป็นฮีโร่ระดับหนึ่งให้ได้ เหมือนว่าเอาความคาดหวังที่ตัวเองไปไม่ถึง มาใส่ไว้กับลูก สุดท้ายทำไปทำมา ลูกเลยเกลียดพ่อ แต่ดีอย่างที่ในมังงะ คนเป็นพ่อคิดได้
เรื่องแบบนี้แอบซ่อนอยู่ในอนิเมะนะ พอดูจากแง่มุมนี้ก็คิดว่า คุณค่าแบบอนิเมะนี่ก็ใช้ได้เหมือนกัน
วนกลับมาเรื่องบ้านเมือง ถ้าคิดฝันได้ อยากให้ประเทศไทยเป็นยังไงต่อไป?
อยากให้เป็นสถานที่ที่ยังทำให้เด็กๆมีความฝันอยู่ครับ และ ให้เค้าเติบโต เพื่อสามารถอยู่รอดในการเป็นพลเมืองของโลกได้
ในความห่ามมีความหล่อ ในความหล่อมีความเศร้า
และนี่คือตัวตน ของเพจรองขาโต๊ะ และ คุณอัฑฒ์ ครับ
...
ใครที่ยังไม่รู้จัก อัฑฒ์ รองขาโต๊ะ สามารถอ่านบทสัมภาษณ์ ของเขากับ aday ได้ที่ลิงค์นี้เลยครับ https://adaymagazine.com/table-support-books