โฟลิโอ ถึง สำนักพิมพ์สมมติ
ในยุคปัจจุบันนี้มีสำนักพิมพ์อิสระอยู่ แม้จะพูดไม่ได้ว่ามากมาย แต่ก็มีอยู่จำนวนหนึ่งที่คอยผลิตหนังสือคุณภาพ และมีธีมที่ต่างออกไป สำนักพิมพ์สมมติ ก็เป็นหนึ่งในนั้น
เช้าวันหนึ่ง เรานำชื่อ สำนักพิมพ์สมมติ มาเป็นประเด็นพูดคุยกัน พอไล่เรียงกันไป ก็มีหนังสืออยู่สี่เล่มของสมมติที่พวกเราเคยอ่านกันมา คือ ; หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ (1984), ราโชมอน, ดินแดนคนตาบอด, และ บทสำรวจความคิดทางการเมืองของ อันโตนิโอ กรัมชี่ ซึ่งต่างก็เป็นหนังสือที่ผู้ที่ได้อ่านประทับใจทั้งหมด อีกอย่าง ในฐานะกลุ่มคนที่ทำแบรนด์เหมือนกัน พวกเราเองก็ชื่นชมสมมติในแง่ความชัดเจนในแบรนด์ และการเล่าเรื่อง...ซึ่งเราก็ต่างชอบสมมติ เพราะสมมติเท่ห์มาก
สมมติ. แบรนด์ และสำนักพิมพ์ อันหนักแน่นจริงจังนี้ ก่อตั้งขึ้นในปี 2551 หรือว่า ประมาณ 13 ปีที่แล้ว จากความร่วมมือกันของ ต้อง-ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล และ จ๊อก-ชัยพร อินทุวิศาลกุล ด้วยความตั้งใจที่อยากให้มีหนังสือที่ตัวเองชอบแต่ยังไม่ค่อยมีคนกล่าวถึงออกมาเป็นภาษาไทย ซึ่งนี่ก็คือที่มาของชุด “วรรณกรรมในวงเล็บ” ของสำนักพิมพ์ โดยหนังสือเล่มแรกที่พิมพ์ ชื่อ บาร์เทิลบี (Bartleby, the Scrivener) ของ เฮอร์แมน เมลวิลล์ (Herman Melville - ผู้เขียน โมบี ดิ๊ก) ซึ่งนับเป็นหนังสือเรื่องสั้นชิ้นเอกของอเมริกาเล่มนึงเลย
ในความเป็นสมมติ เราจะเห็นเรื่องราว ทั้งนวนิยายและหนังสือวิชาการที่ตั้งคำถามต่อศีลธรรม ปรัชญา ความเป็นมนุษย์ และให้ทัศนะเกี่ยวกับการเมือง แน่นอนว่าเรามองเห็นการเป็นขบถ-การครอบงำอยู่ในนั้น จากสายตาของโฟลิโอ เรามองสมมติว่า ฉลาด อาร์ต และมีความหนักแน่นจริงจัง ในขณะเดียวกัน แม้จะดูเข้มแข็ง แต่ข้างในก็มีความเศร้าอยู่ลึกๆ การที่สมมติเลือกใช้สีดำอย่างมากมายในอินเตอร์เฟสต่างๆ รวมทั้งปกหนังสือเกือบทุกเล่ม โฟลิโอมองว่านี่ช่างน่าสนใจ เพราะมันคือ ”สมมติ” ในสีเดียว
คิดดังนั้น โฟลิโอ จึงขอยกหูสัมภาษณ์ “สมมติ” เสียหน่อย
บทสัมภาษณ์ หนึ่งในบรรณาธิการสนพ.สมมติ สิทธิ์ สิทธิวัฒน์ เรืองพงศธร วิศกรหนุ่มผู้ลุ่มหลงในการอ่าน และมีความสนใจในประเด็นทางสังคม ผู้ซึ่งจับพลัดจับผลูพลางดิ้นรน มาลงเอยทำงานกับสมมติ ได้ให้เกียรติกับโฟลิโอในการพูดคุยครั้งนี้
ทันทีที่ได้พูดคุยกัน น้ำเสียงปลายสายนั้นเต็มไปด้วยความเป็นมิตร หลังจากที่ได้ไล่เรียงที่มาที่ไปกันพักหนึ่ง บทสนทนาจึงได้เริ่มขึ้น
อะไรคือที่มาของ ชื่อว่า “สมมติ”
ความหมายของคำนี้ไม่ว่าจะในแง่มุมของศาสนา-ปรัชญา หรือประวัติศาสตร์-สังคมศาสตร์ ล้วนมีคำตอบอยู่ในตัวของมันเองอยู่แล้ว ‘สมมติ’ เป็นจินตนาการที่มีเค้าโครงของความจริง และทุกคำนามที่เราเรียกชื่อ ก็เป็นเรื่องสมมติทั้งหมด เราบัญญัติและนิยามสมมติก็เพื่อให้เราได้สื่อสารกันได้
เราเห็นว่า ‘สมมติ’ มีหนังสือที่มีธีมชัดเจนมาก ‘สมมติ’ คัดเลือกหนังสืออย่างไร?
เราคัดเลือกกันจากความรู้สึกของเราเองครับ คือไม่ว่าใครในพวกเราอ่านต้องชอบ ต้องมีความรู้สึกว่ามันดี มันมีคุณค่า และคุ้มเวลาที่จะอ่าน มันเลยมีความชัดเจนมากๆ ครับ ส่วนว่าจะขายยังไง ขายใคร ณ ตอนนั้นเรายังไม่ได้คาดคะเน เอาเป็นว่าทำหนังสือเสร็จแล้วมาช่วยกันคิดว่าจะขายยังไง แต่ลึกๆ ผมเชื่อว่า “หนังสือที่ดีมีคุณค่า มันย่อมมีคนอ่าน”
จากบทสัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ของคุณต้อง-ปิยะวิทย์ แกบอกว่า ไม่มีใครสนใจงานที่ ‘สมมติ’ ทำหรอก ถ้าอย่างนั้นผมจะขอถามในอีกแง่มุมว่า แล้ว ‘สมมติ’ คิดว่าหนังสือที่ทำมันสร้างคุณค่าให้สังคมไหม?
ส่วนตัวของผม ผมเข้ามาทำด้วยความคาดหวังว่าหนังสือมันจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้นะ แต่พอทำเข้าจริงๆ เราพบว่า สำหรับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ‘สมมติ’ เราเป็นแค่ ‘ประกายแว่บเดียว’ เราเป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะฉะนั้น ไอ่ประกายแว่บเดียวเนี่ย มันจะเป็นอะไรต่อ ผมไม่รู้จริงๆ ถ้ามันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เราก็ดีใจด้วย ดังนั้นตอนนี้สำหรับผม ผมมองไปที่ว่า เราจะส่งมอบคุณค่าทางวรรณกรรมและคุณค่าของหนังสือแต่ละเล่มไปให้ถึงมือผู้อ่านได้มากที่สุดได้อย่างไร
แต่ ‘สมมติ’ เองก็ยังเลือกที่จะชี้นำสังคมด้วยประเด็นในหนังสือที่เลือก?
เรื่องชี้นำ ผมไม่ค่อยแน่ใจนะ ไม่แน่ใจว่าเราจะชี้นำอะไรได้ แต่ว่า แน่นอนเราไม่ได้เป็นกลาง หรือไม่มีความคิดเห็นต่อหัวข้อที่เรานำเสนอ เราทำสิ่งที่เราเชื่อ ส่วนคุณจะไม่เชื่อก็ไม่เป็นไร ไม่เห็นด้วยก็ไม่เป็นไรเลยจริงๆ เราแค่พยายามจะซื่อตรงต่อความคิดของเรา และอย่างที่บอก ทุกเล่มที่เราทำ เรารู้สึกกับมันจริงๆ
ในพวกเราอ่าน ‘สมมติ’ มาแล้ว 4 เล่ม ช่วยแนะนำเล่มที่ 5 ให้ได้ไหมครับ?
ที่อ่านไปแล้วมี 1984, ดินแดนคนตาบอด, ราโชมอน, และ บทสำรวจความคิดทางการเมืองของ อันโตนิโอ กรัมชี่ งั้นเล่มต่อไป ควรจะเป็นหนังสือชื่อ บาย-ไลน์ (By-Line) ครับ เล่มนี้เป็นรวมบทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ในยุคสมัยที่ เออร์เนส เฮมิงเวย์ (Ernest Hemingway) เป็นนักหนังสือพิมพ์ พูดง่ายๆ คือเป็นงานก่อนที่เขาจะโด่งดังจนกลายเป็นนักเขียนที่นักอ่านทั่วโลกรู้จัก ผมชอบเล่มนี้เพราะมันฉายภาพการทำงานของเฮมิงเวย์อย่างชัดเจน ว่าเวลาเขาเจอเรื่องอะไรก็ตาม เขาจะขบคิด ตั้งประเด็น หรือวิพากษ์ประเด็นนั้นๆ อย่างไร จุดเด่นอีกอย่างของเขาคือความแม่นยำในสไตล์นักหนังสือพิมพ์ และถ่ายทอดมันออกมาอย่างตรงไปตรงมาแต่มีลีลาชั้นเชิง เช่น ถ้าเราไปดูสู้วัว เราก็คงจะถ่ายทอดออกมาว่า โอ้! มันสนุกมาก มันส์มาก แต่ไม่ใช่แบบนั้น เฮมิงเวย์ถ่ายทอดการสู้วัวออกมาด้วยการเขียนได้อย่างอัศจรรย์มาก แล้วเราเห็นภาพได้เลย ซึ่งสุดท้าย ฉากการสู้วัวนี้ก็กลายเป็นวัตถุดิบในหนังสือชื่อดังของเขาชื่อ THE SUN ALSO RISES ผมแนะนำคนที่อยากรู้จักเฮมิงเวย์ คนที่อยากเขียนให้ดี คนที่อยากเข้าใจนักเขียน ต้องอ่านเล่มนี้ บาย-ไลน์
‘สมมติ’ ทำชุดหนังสือ ธเนศ (วงศ์ยานนาวา) 8 เล่ม, ทำไมต้องธเนศ?
คือเสน่ห์ของงานเขียนของอาจารย์ธเนศเนี่ยหลากหลายมาก อาจารย์ธเนศให้ความรู้ทั้งในด้านกว้างและเชิงลึก งานเขียนที่ออกมาจึงพบความเชื่อมโยงทั้งในและข้ามสาขาในคราเดียวกัน คุณลักษณะแบบนี้หาไม่ได้ง่ายนัก และที่ผมคิดว่าที่ดีมากในหนังสือของอาจารย์ธเนศคือ หนังสือเหล่านั้นไม่ได้ให้คำตอบ หรือบทสรุปอะไร แต่สิ่งที่ผู้อ่านจะได้รับหลังจากอ่านจบคือ ‘คำถามมากมาย’ พร้อมเสียงของอาจารย์ธเนศมาตบบ่าคุณว่า “เออ... คุณไปหากันเอาเองว่ะ”
เช่นในเล่ม ‘เพศ’ เราจะพบว่า เรื่องเพศไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ไม่ใช่เรื่องในธรรมชาติ มันมีกรอบแนวคิดทางสังคมวัฒนธรรมและศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องกันอย่างชัดเจน หรือในเล่ม ‘ความสุข’ ที่ตั้งคำถามถึงเหตุที่มาของภาวะอารมณ์นี้ ว่าท้ายที่สุด เรามีความสุขหรือมีใครบงการบังคับให้เราต้องมีความสุข
สำหรับผม งานเขียนของอาจารย์ธเนศจึงเปิดกะโหลก เพราะมันไม่ได้ให้คำตอบสำเร็จรูป แต่งานเขียนแบบนี้ชี้ให้เราเห็นว่าทุกสิ่งที่เป็นมาอย่างที่เป็นแบบทุกวันนี้ มันมีเบื้องหลังที่มาที่ไปและมีประวัติศาสตร์เชื่อมโยงกันยังไง งานเขียนแบบนี้อธิบายข้อต่อระหว่าง 1 กับ 2 แล้วบางทีการเชื่อมโยงก็ปรากฏขึ้นอย่างที่เราไม่ได้คาดคิดว่ามันเป็นเรื่องที่สืบเนื่องและเกี่ยวข้องกันในทางใดก็ทางหนึ่ง
หนังสือเล่มไหนคือหนังสือของ ‘สมมติ’ ที่คิดว่ายังไม่ได้รับการพูดถึงเท่าที่ควร
[คุณสิทธิ์นิ่งไปพักหนึ่ง แล้วก็ตอบมาว่า] สำหรับผมน่าจะเป็นวรรณกรรมไทย จริงๆ แล้ว ‘สมมติ’ ทำมาตลอด และไม่เคยขาดช่วง แล้วก็ทำทุกแนวด้วยนะครับ ทั้ง กวีนิพนธ์ เรื่องสั้น นิยาย [โฟลิโอ : ชูประเด็นจากความรู้สึกของตัวเองว่า จริงๆ แล้วก็เน้นอ่านวรรณกรรมที่เป็นสากลก่อน เพราะว่ามันดูได้รับการยอมรับมากกว่า นำไปพูดคุยและอ้างอิงได้มากกว่า แล้วเราก็รอฟังการตอบกลับมา)
จริงๆ แล้ว เราไม่ชอบที่จะสื่อสารว่า ‘วรรณกรรมไทย’ มันทัดเทียมหรือเทียบเท่ากับวรรณกรรมแปล เพราะว่าถ้าเราทำอย่างนั้น มันก็เท่ากับว่าเราบอกว่า จริงๆ มันด้อยกว่าน่ะ แต่ผมว่า ถ้าเราพูดว่า ‘วรรณกรรม is วรรณกรรม’ ‘นิยาย ก็คือ นิยาย’ ทั้งหมดก็เป็นสิ่งที่ ‘สมมติ’ เลือกแล้วว่ามีคุณค่า คุณจะว่าไง?
จริงๆ เราเคยหยิบบางท่อนบางตอนของวรรณกรรมไทยและวรรณกรรมแปลของเรามาอ่านอีกครั้ง โดยปิดชื่อเล่ม ปิดชื่อคนเขียน เราก็ค้นพบว่ามันยอดเยี่ยมและมีความเป็นวรรณกรรมเสมอเหมือนกัน อาจต่างในแง่มุมและรายละเอียดหรือบริบท และโดยภาพรวมของการเป็นเรื่องเล่าชั้นดี วรรณกรรมไทยที่เราเลือกมาทำล้วนมีคุณค่าและมีความหมายของการเป็นงานเรื่องแต่งที่มีลีลาชั้นเชิงที่ไม่เสียเวลาอ่านโดยเปล่าประโยชน์อย่างแน่นอน พูดอีกแบบคือ เราอ่านวรรณกรรม มันก็คือวรรณกรรม
เข้าใจแล้ว งั้นช่วยแนะนำวรรณกรรมไทยของ ‘สมมติ’ ให้เราหน่อย
--ถ้าคุณชอบวรรณกรรมดิสโทเปีย อย่าง ‘ดินแดนคนตาบอด’ (The Country of the Blind) คุณก็น่าจะชอบ ‘อนุสาวรีย์’ ของ วิภาส ศรีทอง
--ถ้าเป็นเรื่องสั้นที่มีความเปลี่ยวเหงา ผสมกับการเมือง คุณก็น่าจะชอบ ‘อาจเป็นเพราะเหตุนั้น’ ของ นิธิ นิธิวีรกุล
--อีกเรื่องของนิธิที่ดีมากๆ เป็น Political Romance หลายเจนเนอเรชั่น ที่ครอบคลุมเหตุการณ์ทางการเมืองหลายยุคสมัยคือ ‘ดังนั้นจึงสิ้นสลาย’
--ส่วนเรื่องสั้นหลังสมัยใหม่ / หักมุม ‘ในปีที่ยี่สิบเจ็ด’ ก็น่าสนใจและมีความแปลกใหม่ ผลงานของ ชาคริต คำพิลานนท์
--ความเรียงกวีนิพนธ์ (Aphorism) ‘ในความซ้ำซากของชีวิต’ ของ สหรัฐ พัฒนกิจวรกุล ด้วยรูปแบบที่อ่านจบสั้นๆ แต่ต้องคิดยาวๆ ผมคิดว่ามันมีความแหลมคมและมีประเด็นร่วมสมัยต่อผู้คน
เราเห็นคุณเปิดรับสมาชิกตลอดชีพ นี่เป็นอะไรที่บ้ามาก!
ใช่! เป็นอะไรที่บ้ามาก แต่คุณรู้ไหม เราทำมาสามรุ่นแล้วนะ ต้องขอบคุณผู้อ่านที่บ้า และให้ความเชื่อใจเราขนาดนี้ ตอนนี้เรายังเปิดรับรุ่นสาม คิดว่าน่าจะเป็นรุ่นสุดท้าย เพราะถ้าเปิดรุ่น 4 ราคามันจะเริ่มไปกันใหญ่ ฮ า ฮ า
[ปล. หากใครสนใจสมัครเป็นสมาชิกตลอดชีพ ราคา 44,000.- บาท (สามารถผ่อนชำระได้) และรับประกันว่าคุณจะได้รับหนังสือของสมมติทุกเล่มที่มีอยู่ในคลังจากนี้และตลอดไป สามารถสมัครได้ที่ เว็บไซต์สมมติ https://www.sm-thaipublishing.com/product/30906/lifetime-member-3rd]
สุดท้ายของการสัมภาษณ์ เราก็ได้บอกลา และกล่าวขอบคุณแก่กัน สิ่งหนึ่งที่เราประทับใจใน ‘สมมติ’ มากยิ่งขึ้นไปอีกหลังบทสนทนานี้คือ “ความซื่อตรงต่อตนเอง และความสม่ำเสมอในลีลาของการเดินอยู่ในเส้นทางนั้น” หากเราทั้งสองเป็นคนได้ โฟลิโอก็อยากจะยกจอก-กอดคอร่ำสุรากันสักครา
โฟลิโอ ขอขอบคุณ คุณต้อง - ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล บรรณาธิการ, คุณสิทธิ์ - สิทธิวัฒน์ เรืองพงศธร หนึ่งในบรรณาธิการสนพ.สมมติ, คุณเอก - เอกสิทธิ์ เทียมธรรม หนึ่งในบรรณาธิ